ชีวประวัติหลวงพ่อ "วิริยังค์ สิรินฺธโร"  ตอน บุญบันดาลตอนร่างกายเป็นอัมพาต

ชีวประวัติหลวงพ่อ "วิริยังค์ สิรินฺธโร" ตอน บุญบันดาลตอนร่างกายเป็นอัมพาต

09 สิงหาคม 2565, 07:00 น.

2,352

แชร์:

มีครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตของ ด.ช.วิรยังค์ ซึ่งมันเกือบจะทำให้ชีวิตของเขาแทบจะดับวูบและหมดความหมาย แต่ยังดีมีสิ่งหนึ่งแม้จะลึกลับปรากฏเป็นทางให้เห็นว่าบุญยังมี ในวันนั้นเริ่มแต่เช้าเขาได้นำเกวียนไปลากไม้ที่ในไร่มาเผาถ่าน ซึ่งกว่าจะบรรทุกไม้ได้เต็มเล่มเกวียนก็จะต้องใช้แรงมาก และเสียเวลาครึ่งค่อนวัน เมื่อเขานำไม้มากองไว้เสร็จแล้ว นำวัวเข้าคอกขึ้นไปบนบ้าน มารดาก็บอกเขาว่าน้ำไม่มีจะใช้ ด.ช.วิริยังค์ มิได้ปริปากว่ากำลังเหนื่อยมาจากลากไม้ เขาได้รีบนำกระป๋องไปหาบ น้ำจากลำตระคลองประมาณ ๑๐ เที่ยวกว่าจะเต็มทุ่ม จากนั้นก็ตั้งวงรับประทานอาหารเย็น หลังจากรับประทานอาหารแล้ว มารดาได้บอกเขาว่า ข้าวสารจะหุงในวันรุ่งขึ้นหมดแล้ว แม้มันจะเหนื่อยแทบใจขาด ด.ช.วิริยังค์ ก็ไม่ปริปากแต่อย่างใด เขาได้เข้าไปที่ยุ้งข้าวโกยข้าวใส่กระบุงได้ ๒ กระบุง หาบไปที่บ้านนาดี ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก เขาได้เริ่มตำข้าว เป็นการทำด้วยครกกระเดื่องเหยียบเอาด้วยเท้า ครกหนึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงจึงจะเสร็จ ด.ช.วิริยังค์ ได้ตำข้าวไปกระบุงหนึ่งแล้ว ขณะนั้นเวลาประมาณ ๓ ทุ่มก็ดึก พอควรแต่เขารู้สึกเหนื่อยมาก เขาคิดว่าจะต้องทำให้หมด ๒ กระบุง เพราะ จะได้กินนาน ๆ หลายวัน แม้จะเหนื่อยมากเขาก็อดทนต่ำกระบุงที่ ๒ ต่อไป มันเป็นเวลาที่ดึกมากแล้วเขารีบตำอย่างรวดเร็ว ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “จัก กระรัน” คือ เหยียบเร็ว ๆ ขณะที่เขากำลังเร่งตำข้าวอยู่นั้นเอง ก็เกิดเจ็บท้องน้อย เจ็บมากขึ้นแต่เขาก็ทนตำข้าวต่อไป ทันใดนั้นเขาได้เป็นลมหน้ามืดล้มทั้งยืน นอนแน่นิ่งอยู่ข้างครกตำข้าวนั่นเอง ผู้เห็นเหตุการณ์อยู่ใกล้ ๆ คือหลานคนใบ้พูดไม่ได้ ได้รีบวิ่งไปชี้โบ๊เบ๊อยู่พักใหญ่ ทางน้า ๆ เขาจึงรีบมา และได้ ช่วยกันอุ้ม ด.ช.วิริยังค์ ซึ่งหมดสตินอนอยู่ข้างครกตำข้าว ทั้ง ๆ ข้าวที่ทำไว้ยังค้าง ครกอยู่เต็ม ได้พาไปที่บ้านโดยเร็ว เมื่อนำมาถึงบ้านบิดามารดาของเขาตกใจเป็นอย่างมาก ได้ช่วยกันปฐมพยาบาล ทุกวิถีทาง ประมาณชั่วโมงกว่า ๆ เขา จึงรู้สึกตัวขึ้น

หลัง ด.ช.วิริยังค์ รู้สึกตัวขึ้นแล้ว เขาไม่สามารถจะเคลื่อนไหวร่างกายท่อนล่างทั้งหมดได้เลย เพราะมันเป็นอัมพาตเสียแล้ว เป็นอันว่าเขาไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ ซึ่งมันเป็นการทรมานเหลือหลาย ทั้งการขับถ่าย อุจจาระปัสสาวะก็ทำเองไม่ได้ บิดามารดาได้วิตกกังวลอาจจะต้องเป็นอัมพาตตลอดไปเสียกระมัง ท่านทั้งสองบิดามารดาได้พยายามหาหมอยาและหมอผี รักษากันอย่างเต็มที่ อาการก็มิได้กระเตื้องขึ้น กลับมีอาการหนักลงทุกวัน พี่เขยซึ่งเป็นนายแพทย์แผนปัจจุบันก็หมดปัญญาที่จะรักษา เมื่อได้ตรวจดูแล้วพูดว่าที่สั่งการมันไม่ทำงานเสียแล้วคงหมดหวัง เวลาได้ล่วงเลยไปถึงเดือนแล้วอาการก็ไม่ทุเลา น้ำหนักลดลงผอม ข้อมือเล็กนิดเดียว มีสภาพเหมือนคนตายทั้งเป็น ความหวังที่จะคืนสภาพเดิมนั้นมองไม่เห็นเลย

ขณะนั้นมีคนที่เป็นเพื่อนและพี่น้อง ต่างก็มาพูดรบกวนทารุณหัวใจเขาว่า

“วิริยังค์เอ๋ย คราวนี้คงหมดท่าเสียแล้ว ตัวต้องเดือดร้อนคนอื่นเขาใครเล่าจะมาคอยดูแลแกตลอดชีวิต ใครเขาจะเลี้ยง ทำอะไรก็ไม่ได้เป็นอัมพาต วิริยังค์เอ๋ยอันตัวแกย่อมเป็นภาระแก่พ่อแม่ญาติพี่น้อง ทํามาหากิน ไม่ได้ ตกหนักลำบากแก่ญาติพี่น้อง แย่ละแก”

 ด.ช.วิริยังค์ ต้องเสียใจตัวเอง อย่างมากคิดว่า “เมื่อเรามีกำลังวังชา เขาใช้เราได้เราก็เป็นคนดี พอเขาใช้เราไม่ได้เราก็เก๊ยิ่งกว่าหมา เราเป็นคนไร้ที่พึ่งแล้วคราวนี้”

แต่ธรรมะเท่านั้นที่ยังครองใจเขา เพราะ ด.ช.วิริยังค์ ได้เคยจำศีลภาวนาได้ผลทางสมาธิภายในใจมาแล้ว ได้ปลอบใจตัวเองว่า

“เรานี้ทำอะไรไม่ได้ก็ดีแล้ว จะได้ไม่ต้องทำบาปอีกต่อไป นอนภาวนาอยู่อย่างนี้สบายใจดี จิตก็รวมเป็นสมาธิได้ เขาพยายามนึกถึงธรรมะที่พระอาจารย์กงมาฯ สอนว่าทุกสิ่งไม่เที่ยงเกิดขึ้นมาแล้วดับไป ถึงเรานอนอยู่อย่างนี้จนตายก็ไม่อนาทรร้อนใจ ไม่มีใครให้อาหารเรากินก็ให้มันตายไปเสียเถิด จิตเมื่อเป็นสมาธิ สวรรค์นิพพานเป็นของเราแน่” เมื่อเขาคิดอยู่อย่างนี้ก็ทุเลาความวิตกกังวล ไปชั่วขณะ

วันหนึ่งหลังจากเป็นอัมพาตมาได้เดือนเต็ม ๆ ด.ช.วิริยังค์ จึงตั้งจิตอธิษฐานในใจแต่ผู้เดียวว่า

“หากว่าชีวิตของข้าพเจ้ายังจะได้เป็นประโยชน์ แก่พระพุทธศาสนา ถ้ามีผู้ใดมารักษาให้ข้าพเจ้าหายเป็นปรกติได้แล้วข้าพเจ้า จะอุทิศชีวิตนี้ให้แก่พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น”


หลังจากอธิษฐานเช่นนี้ไม่นานเพียง ๗ วันเท่านั้น มีชีผ้าขาวคนหนึ่งเดินทางมาจากทางภาคอีสานเข้าไปที่วัดสว่างอารมณ์ และได้เข้าไปนมัสการท่านพระอาจารย์กงมาฯ แล้วถามโดย ไม่รีรอว่า

“ข่าวว่ามีเด็กเป็นอัมพาตอยู่ที่หมู่บ้านใหม่สำโรง ท่านทราบบ้างไหม?”

พระอาจารย์กงมาฯตอบทันทีว่าทราบ แล้วบอกว่า “เด็กนั้นชื่อวิริยังค์เป็น บุตรท่านขุนเพ็ญภาษีชนารมย์”

ชีผ้าขาวนั้นได้ลาพระอาจารย์กงมาฯ แล้ว ก็รีบไปที่บ้านของ ด.ช.วิริยังค์ ตรงขึ้นบันไดแล้วเข้าไปพบบิดามารดาของเขา บอกกับผู้ปกครองว่า “ผมจะรักษาลูกให้เอาไหม?”

“เอาครับผมต้องการหมอ จะเอาราคาค่างวดเท่าไรบอกมาเถิด” บิดามารดาของ ด.ช.วิริยังค์ ตอบ

“ผมไม่เอา ค่ารักษา ผมจะมาช่วยเท่านั้น” ชีผ้าขาวตอบและก็ไม่รีรอ ตรงเข้าไปหา ด.ช.วิ แล้วก้มศีรษะพูดที่หูเป็นเชิงกระซิบว่า

“หนูๆ หนูอธิษฐานว่า ถ้า มีใครมารักษาอัมพาตให้หายได้จะอุทิศชีวิตให้แก่พระพุทธศาสนาจริงไหม?”

ด.ช.วิริยังค์เมื่อได้ฟัง เขาตกใจและสงสัยมากว่า เพราะเหตุใดชีผ้าขาวจึงรู้ ความนึกคิดของเรา เพราะเราอธิษฐานในใจคนเดียวไม่บอกใครเลย เขาจึง ตอบชีผ้าขาวว่า “ใช่” ซีผ้าขาวจึงบอกเขาว่า

“หนูๆ หนูจงพูดดัง ๆ ให้ลุงฟัง อีกครั้ง ลุงจะรักษาให้” ด.ช.วิริยังค์ จึงกล่าวเสียงดังฟังชัดว่า “ถ้าผู้ใดมารักษา อัมพาตของข้าพเจ้าให้หายเป็นปรกติ ข้าพเจ้าจะขออุทิศชีวิตนี้ให้แก่ พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น”

“เออดีแล้ว” ชีผ้าขาวพูด จากนั้นชีผ้าขาวก็ขอ หัวไพร ๑ หัว ทำน้ำมนต์เป่ามายังร่างกายของ ด.ช.วิ เพียง ๓ ครั้งเท่านั้นและบอกเขาว่าพรุ่งนี้ลุงจะมาบิณฑบาต คอยใส่บาตรให้ลุงนะ แล้วชีผ้าขาวก็เดินกลับไปที่พักที่วัดใต้ต้นมะขาม โดยกางกลดอยู่แบบพระธุดงค์

ด.ช.วิริยังค์ สงสัยเป็นกำลัง คิดว่า “เราป่วยมาตั้ง ๖ เดือนกว่า ร่างกาย ท่อนล่างเคลื่อนไหวไม่ได้เลย เหตุไฉนชีผ้าขาวมาเป่าเพียง ๓ ครั้ง เท่านั้น และบอกว่าพรุ่งนี้ให้เดินไปใส่บาตร มันจะเป็นไปได้หรือๆ ชีผ้าขาว เป็นเทวดาจำแลงมา หรือว่าเป็นผู้สำเร็จฌาน แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเป็นไปได้อย่างสีผ้าขาวพูดก็อาจจะเป็นบุญของเรา”

เขาคิดไป ๆ เพลินๆ แล้วก็ม่อยหลับ เขามีความสุขในขณะหลับอย่างไม่เคยมีมาก่อน เขาตื่นแต่เช้ามืด ตัวเบาไปหมด เขาเคลื่อนไหวร่างกายได้แล้ว ทั้งท่อนบนและท่อนล่าง เขาพยุงตัวลุกขึ้นได้อย่างปรกติ เขารีบเรียกบิดามารดาให้มาดูว่าเขาหายแล้ว จริง ๆ อย่างผ้าขาวพูดไว้ จัดการใส่บาตรในวันนี้ บิดาเขาดีใจอย่างมาก รีบหาไม้ไผ่ทั้งลำมามัดเป็นราวให้จับเดินเพราะกลัวล้ม ด.ช.วิริยังค์ ได้ลุกขึ้นจับราวไม้ไผ่ แต่สักครู่ก็ไม่ต้องจับราวไม้ไผ่เดินได้สบาย รุ่งเช้าประมาณ ๗.๐๐ น. ชีผ้าขาวได้ถือบาตรยืนรออยู่หน้าบ้านเขาและมารดาได้ถือขัน ข้าวลงจากบ้านพยุงเขาเพราะพึ่งหายใหม่กลัวล้ม เมื่อไปถึงที่ชีผ้าขาวยืนอยู่ ชีผ้าขาวได้โบกมือให้มารดาของเขากลับไป ให้เขาถือขันข้าวแต่ผู้เดียวและเขาก็ได้ถือขันข้าวยกใส่หัวแล้วเอาทัพพีตักข้าวเพื่อใส่บาตร แต่ชีผ้าขาวได้ปิด บาตรยืนเฉย เขาสงสัยและขอร้องให้ชีผ้าขาวเปิดบาตร ชีผ้าขาวก็ไม่เปิด

สักครู่ชีผ้าขาวจึงพูดว่า “วิริยังค์หนู ๆ ๆ ลืมสัญญาหรือไม่”

“ผมไม่ลืมครับ” เขาตอบ “หนูจงพูดดัง ๆ ให้ลุงฟังอีกที” ชีผ้าขาวพูด เขาจึงพูดอย่างเสียง ดังฟังชัดว่า

 “ถ้าผู้ใดมารักษาข้าพเจ้าให้หายจากอัมพาต ข้าพเจ้าจะขออุทิศ ชีวิตนี้ให้แก่พระพุทธศาสนาทั้งสิ้น”

ชีผ้าขาวบอกว่าดีแล้ว แล้วก็เปิดบาตร ให้เขาใส่จนหมดขัน ปิดแล้วเตรียมเดินกลับวัด ก่อนกลับได้หันมาบอกเขาว่า “วิริยังค์เดี่ยวตอนบ่ายไปพบลุงที่วัดนะ” “ครับ” เขาตอบ 



ที่มา : หนังสือชีวิตคือการต่อสู้