ชีวประวัติหลวงพ่อ "วิริยังค์ สิรินฺธโร" ตอน ธุดงค์อยู่ในถ้ำเขาภูคา จ.นครสวรรค์

ชีวประวัติหลวงพ่อ "วิริยังค์ สิรินฺธโร" ตอน ธุดงค์อยู่ในถ้ำเขาภูคา จ.นครสวรรค์

07 พฤศจิกายน 2565, 07:00 น.

17,802

แชร์:

ธุดงค์อยู่ในถ้ำเขาภูคา จ.นครสวรรค์

รู้สึกว่าเงียบจริง ๆ ถ้ำนี้ไม่สูงนักจากพื้นดิน วันนี้เป็นวันเข้าอยู่ในถ้ำหาความเพียรเป็นวันแรกของชีวิตการเดินธุดงค์ รู้สึกว่าบรรยากาศผิดแผกแตกต่างกับป่าไม้มากทีเดียว ทำจิตได้ดีเพราะมีความรู้สึกว่า ถ้ำได้เป็นฝาผนังปิดกั้นอารมณ์ ขณะที่อยู่ในถ้ำนี้ พระอาจารย์ได้ให้พวกเราทำทางเดินจงกรม เพื่อให้มีการเปลี่ยนอิริยาบท จากนั่งมาเป็นการเดิน แม้จะเดินก็ให้เป็นสมาธิเพราะเดินจงกรมนั้นถือว่าเป็นการทำสมาธิไปด้วย เมื่อพวกเราทำการขุดปรับพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ให้เสมอราบเรียบนั้นได้พบสิ่งต่าง ๆ อันเป็นวัตถุโบราณมาก เช่น ตุ้มหูทองคำ เบ้าหลอมทอง กระโหลกศีรษะคน จึงประมาณได้ว่าถ้ำนี้เป็นถ้ำโบราณ คงจะเป็นสถานที่ของคนเก่าแก่

พระอาจารย์ฯได้พาพวกเราอยู่ที่นี้เป็นเวลานาน เพราะเป็นสถานที่เหมาะแก่การทำความเพียรมากยิ่งกว่าที่อื่น ๆ ที่ได้พบเห็นมา สามเณรวิริยังค์จึงถือโอกาสท่องพระปาฏิโมกข์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะเตรียมการเป็นพระภิกษุ ปาฏิโมกข์ต่อไป สามเณรวิริยังค์ใช้เวลา ๑๕ วันก็ท่องจบ และก็จำไว้ได้ตลอดถึงเป็นพระภิกษุ นับว่าความจำของเราใช้ได้

พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้ธุดงค์มาพบกันที่ถ้ำนี้ ท่านก็ได้ถือโอกาสอยู่ร่วมการทำความเพียรด้วยกัน ณ ที่นี้ และท่านทั้ง ๒ คือพระอาจารย์อ่อนและพระอาจารย์กงมา ก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ในทาง ปฏิบัติทางด้านจิตใจอยู่เสมอ สามเณรวิริยังค์ก็ได้ฟังท่านสนทนาธรรมปฏิบัติ ทำให้สามเณรวิริยังค์ได้รับความรู้ชั้นสูงหลายๆ อย่าง แม้จิตของสามเณรวิริยังค์ ยังต่ำคือยังทำไม่ถึงขั้นที่ท่านสนทนากัน แต่ก็พยายามจดจำคำสนทนาของท่านพระอาจารย์ ทั้ง ๒ ไว้ ณ ที่นี้เผื่อว่า อาจจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านตามสมควร

๒๕ เมษายน ๒๔๗๙ ณ ถ้ำเขาภูคา อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

พระอาจารย์กงมา “การทำสมาธิทำไมเราจะต้องธุดงค์ด้วยครับ”

พระอาจารย์อ่อน “การธุดงค์เพื่อความแก่กล้า แต่สมาธิทำได้ทุกโอกาสทุกสถานที่”

พระอาจารย์กงมา “การพิจารณากาย ใช้ได้เฉพาะคนหรือทั่วไป”

พระอาจารย์อ่อน “ใช้ได้ทั่วไป มิฉะนั้นเวลาบวชต้องให้กรรมฐาน ๕ ถ้า ไม่ทั่วไปจะทำกฎข้อนี้ไว้ทำไม”

พระอาจารย์กงมา “เขาว่า ผู้พิจารณากาย คือ ราคะจริต”

พระอาจารย์อ่อน “โธ่ ก็ใครเล่าไม่มีราคะ”

พระอาจารย์กงมา “จิตเพียงไร ชื่อว่าควรแก่วิปัสสนา”

พระอาจารย์อ่อน “จิตเป็นอุปาจาระสมาธิ”

พระอาจารย์กงมา “อย่างไรชื่ออุปจาระสมาธิ”

พระอาจารย์อ่อน “จิตที่สามารถเข้าสมาธิได้เสมอเวลาต้องการ และเมื่อ เข้าอยู่ในสมาธิแล้วทำงานได้”

พระอาจารย์กงมา “หมายความอย่างไร ทำงานได้”

พระอาจารย์อ่อน “คือเพ่งกระจาย และตั้งขึ้น”

พระอาจารย์กงมา “มีบางคนว่า สุขวิปัสสโก พระอรหันต์ผู้วิปัสสนา ล้วน โดยไม่ต้องมีสมถะ หมายถึง ไม่มีจิตเป็นสมาธิก็ บรรลุได้”

พระอาจารย์อ่อน “นั่นผิดองค์มรรคเป็นความเข้าใจผิดของเขา แม้จะ พระอาจารย์อ่อน ปฏิบัติเช่นไรก็ตาม ถ้าผิดองค์มรรคจะบรรลุไม่ได้ องค์ มรรคข้อที่ ๔ ว่า สัมมาสมาธิหมายถึง ฌาน ๔”

การฟังธรรมที่ท่านผู้สนทนากัน ได้ทำให้สามเณรวิริยังค์ได้ความรู้วิเศษ แม้จะเป็นบันทึกย่อ แต่ทำให้มีประโยชน์ จึงนำมาให้ผู้อ่านได้อ่านบ้าง

ชาวบ้านเขาภูคา มีความยินดีที่พวกเราได้มาพักที่นี้ เขาได้มาถวายอาหารกันแทบทุกวัน แต่พระอาจารย์ก็ได้ห้ามเขามิให้มาในเวลาอื่น ๆ เพื่อจะได้ไม่ต้องกังวล ชาวบ้านเขาก็ทราบ แม้แต่อาหารเขาก็ห่อใส่บาตร โดยไม่ต้องมารบกวนพระถึงถ้ำเพียงแต่วันพระเขาจึงมากันบ้างเพื่อฟังธรรม และสมาทานศีล

พระอาจารย์ ได้พาพวกเราพักทำความเพียรอยู่ ณ ที่นี้ ตั้งใจว่า จะอยู่จำพรรษาในถ้ำนี้สำหรับปีนี้ แต่เมื่ออยู่ไปถึงวันที่ 6 กรกฎาคม ๒๕๗๙ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้โทรเลขด่วนให้กลับนครราชสีมา พระอาจารย์จึงพาพวกเรากลับ สามเณรวิริยังค์รู้สึกเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะสามเณรวิริยังค์ ได้รับความสงบใจอย่างดียิ่งในสถานที่นี้ ซึ่งเป็นที่ทำให้สามเณรวิริยังค์ ได้รับสิ่งซึ่งประหลาดมหัศจรรย์ในการบำเพ็ญสมณะธรรมอย่างสูง แต่เมื่อพระอาจารย์พากลับก็ต้องกลับไป เป็นเวลากระทันหัน จึงต้องโดยสารรถไฟ กลับไปถึงนครราชสีมาวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พระอาจารย์สิงห์ฯ ได้บัญชาให้พระอาจารย์มาอยู่โปรดชาวบ้านใหม่สำโรง ซึ่งเป็นบ้านเดิมของสามเณรวิริยังค์

รูปวัดเขาภูคา ใน ปี พ.ศ.2563


ที่มา : หนังสือชีวิตคือการต่อสู้