ประวัติการสวดลักขี ณ  วัดดำรงธรรมาราม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

ประวัติการสวดลักขี ณ วัดดำรงธรรมาราม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี

28 ธันวาคม 2566, 07:00 น.

2,355

แชร์:

ประวัติการสวดลักขี จัดขึ้นครั้งแรกในแผ่นดินไทยที่วัดดำรงธรรมาราม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ในปี พ.ศ. 2499 อุโบสถวัดดำรงธรรมารามที่สร้างขึ้นใหม่นี้ก็ใกล้เสร็จสมบูรณ์ และพระครูญาณวิริยะ (สมณศักดิ์พระอาจารย์หลวงพ่อในขณะนั้น) ก็ได้กำหนดจัดให้มีงานฝังลูกนิมิตขึ้น ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นวันรวมกลุ่มผู้ที่จะบวชเป็นภิกษุ สามเณร แม่ชี จำนวนนับพันคน โดยทางวัดได้ก่อสร้างศาลามุงจาก ฝาลูกเสม็ด พื้นปูฟางข้าว จำนวน 5 หลัง ซึ่งแต่ละหลังสามารถรองรับคนได้ประมาณ 100 คน ในคืนวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ ได้มีพิธีทำขวัญนาคทุกคนที่จะบวชต้องนุ่งขาวห่มขาว รุ่งขึ้นวันที่ 1 มีนาคม 2500 ก็มีพิธีบวช โดยผู้ชายที่จะบวชก็ให้บวชเป็นสามเณรเสียก่อนที่ศาลาการเปรียญ แล้วจึงไปอุปสมบทในอุโบสถ เป็นภิกษุ 350 รูป สามเณร 50 รูป ในคราวนี้มีสตรีที่เข้ามาบวชชี จำนวน 625 คน นุ่งห่มสีขาวเนืองแน่นไปทั้งวัด สิ้นสุดการบวชในวันที่ 8 มีนาคม 2500 และเป็นวันตัดหวายลูกนิมิตและตลอดระยะเวลาการบวชก็มีการบรรยายธรรมทั้งวันทั้งคืน ตลอด 7 วัน 7 คืน ในพิธีตัดหวายลูกนิมิต มีนายผาด นาคพิน ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีในขณะนั้น มาเป็นผู้ตัดหวายลูกนิมิต เมื่อตัดหวายลูกนิมิตเสร็จพระที่บวชใหม่พร้อมด้วยแม่ชีก็ลาสิกขา


พิธีกรรมการบวชชีครั้งแรกนั้น จึงถือได้ว่าเกิดขึ้นเมื่อปี 2499 ณ สถานที่ธุดงค์วิปัสสนากรรมฐาน วัดดำรงธรรมาราม อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งตอนนั้น เกิดความตระหนักว่า ในเส้นทางปฏิบัติธรรม ผู้หญิงไม่ค่อยมีสิทธิเทียมเท่า ผู้ชาย จึงได้คิดแนวปฏิบัติที่จะให้โอกาสสตรี ด้วยการบวชชีให้สตรีได้เข้าสู่การปฏิบัติธรรม แห่งปณีตศีล ถือเพศบรรพชิต กินนอนในวัดอย่างน้อย ๓ วัน ๓ คืน โดยวันแรกเป็นวันรับศีล วันที่สองเป็นวันทรงศีล จะมีโอกาสปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ ส่วนวันสุดท้าย จะเป็นวันส่งผลบุญ

พิธีกรรมการบวชชี ครั้งแรกในเมืองไทยครั้งนั้น มีหลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ และหลวงปู่กงมา จิรปุญโญ เป็นผู้ให้นิสสัยแก่ผู้เข้ามาบวชชี สมัยนั้นยังถือว่าเป็นของใหม่ แต่ก็มีผู้สนใจเข้ามาบวชชีถึง ๖๒๕ คน

ด้วยอานิสงส์ผลบุญแห่งการบวช ทำให้หลายคนที่ผ่านการบวชแล้ว กลับไปด้วยจิตอันอิ่มเอิบ เบิกบาน แจ่มใส มีความสุขใจ โดยทั่วกัน

ในครั้งนั้น หลวงพ่อวิริยังค์ ได้จัดพิมพ์ภาพของท่านเองให้เป็นของที่ระลึกแก่ผู้ร่วมพิธีบวชทุกคน โดยมีผู้หญิงคนหนึ่ง เป็นชาวบ้าน อ.แกลง จ.ระยอง อาชีพต้มเหล้าพื้นบ้าน (เหล้าเถื่อน) ซึ่งมาบวชอยู่ด้วย ก็ได้รับแจกภาพของหลวงพ่อไปด้วย มีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่ง ผู้หญิงคนนี้ได้ประสบอุบัติเหตุถึงแก่ชีวิต ขณะที่เธอมีสติเลื่อนลอยไปเรื่อย ๆ แล้วมาหยุดอยู่ตรงที่แห่งหนึ่ง ซึ่งมีคนหน้าตาดุร้ายหลายคน จับเธอโยนลงไปในกระทะใบใหญ่ ที่มีน้ำเดือดพล่าน แต่พอเธอจะตกลงไป ก็มีอันกระดอนกลับขึ้นมา เป็นอยู่อย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง

ในช่วงนั้น เธอเห็นรูปหลวงพ่อวิริยังค์ มารองรับเธอไว้ มิให้ตกลงไปในกระทะ แม้ชายหน้าตาดุดันก็เห็นเช่นเดียวกัน จากนั้นเขาก็ได้หยิบรูปนั้นขึ้นมา แล้วถามว่า รู้จักคนนี้หรือไม่ เธอตอบว่า รู้จัก เพราะเคยไปบวชชีที่วัดของท่าน ๓ วัน เขาจึงบอกให้เธอกลับไปได้ เธอมารู้สึกตัวอีกครั้ง ขณะที่ญาติกำลังจะเอาร่างของเธอใส่ลงในหีบศพ พอรู้ว่าเธอฟื้นต่างก็ดีอกดีใจ จากวันนั้นเป็นต้นมา เธอได้ประกาศเลิกต้มเหล้าเถื่อนขายอย่างเด็ดขาด ข่าวนี้เป็นที่โจษขานกันมากในหมู่ชาวบ้าน อ.แกลง ในช่วงเวลานั้น ต่อมา เมื่อมีการบวชชีที่วัด ม มธรรมารามเมื่อไร จะมีผู้คนจำนวนมาก พากันสมัครเข้าบวชชีจนแน่นวัด ชาวบ้านที่มาร่วมงาน ต่างหอบสัมภาระที่เตรียมพร้อมมาอย่างเต็มที่ เพราะจะต้องอยู่กันถึง ๓ คืน ๓ วัน ภายในงาน คุกรุ่นไปด้วยพลังแห่งสมาธิ แล้ววัดอื่น ๆ ก็เอาแบบอย่างนี้ไปปฏิบัติตาม จนแพร่หลายทั่วไป เมื่อหลวงพ่อวิริยังค์ ไปสร้างวัด ณ ที่ใดก็ตาม จะนำเอาประเพณีบวชชีสวดลักขีนี้ ไปจัดขึ้นที่วัดนั้น ๆ เสมอ


เครดิตจาก สถาบันพลังจิตตานุภาพ สาขา 20, 108, 131 วัดดำรงธรรมาราม อ.ขลุง จ.จันทบุรี